กระดานข่าว

เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกระแทกสองระลอก มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกในปีนี้


22 เมษายน 2568

ศูนย์วิจัยกรุงศรีรับผลกระทบจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin shocks) ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลGDP ไทยโตต่ำกว่าคาด เชื่อกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 30 เม.ย. แต่มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 

logo.jpg

ศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่า ธปท.ประเมิน GDP ไทยปีนี้เสี่ยงโตต่ำกว่า 2.5% ด้านวิจัยกรุงศรีคาดกนง.อาจใช้แนวทาง wait-and-see ในเดือนนี้  เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยไว้ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ครั้งที่ผ่านมาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายใต้การคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกับสินค้าไทยที่ 10% ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% แต่หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีกับไทยมากกว่า 10% ผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ GDP ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 2.5%    

วิจัยกรุงศรีประเมินผลกระทบจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin shocks) ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคม และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  GDP ปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ จึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่กนง.อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ สะท้อนจาก Forward guidance ล่าสุดของธปท ที่ระบุว่า 

1.แม้อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯเรียกเก็บกับไทยจะสูงกว่าที่คาดไว้ (36%) แต่ปัจจุบันมีการเลื่อนเก็บเป็นเวลา 90 วัน ผลกระทบจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า 

2.ในการประเมิน GDP ครั้งล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานว่าอัตราภาษีตอบโต้จะอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้ 

3.ธปท.ประเมินว่ามีผลกระทบจำกัดเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะกระทบด้านภาคการผลิต (Supply side) ซึ่งธปท. ย้ำเสมอว่าการใช้นโยบายการเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหรือยกระดับภาคการผลิต 

4.แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ธปท. มองว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบในระยะปานกลาง 

จากการสื่อสารของธปท.ดังกล่าวส่งสัญญาณว่ากนง.อาจจับตาและรอดูสถานการณ์ความชัดเจน (wait-and-see stance) ในระยะนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม