Mr.Data
เห็นการขึ้น-ลงของราคาทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) แล้วต้องร้องจ๊าก!
...จากจุดสตาร์ทราคาทองปี 68 ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ทองแท่งขายออกที่ 42,550 บาท และทองรูปพรรณขายออกที่ 43,150 บาท/บาททองคำ ราคา Gold Spot ที่ 2,624.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ค่าเงินบาทที่ 34.34 บาท/ดอลลาร์
โดยในวันที่ 22 เม.ย. ราคาทองร้อนแรง สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทองแท่งขายออกพุ่งแตะ 54,800 บาท ส่วนทองรูปพรรณอยู่ที่ 55,600 บาท/บาททองคำ ราคา Gold Spot ที่ 3,496.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ค่าเงินบาท 33.12 บาท/ดอลลาร์
วันที่ 23 เมษายน 2568 ปิดตลาดลดลง 1,850 บาท ทองแท่งขายออก 52,600 บาท รูปพรรณขายออก 53,400 บาท ราคา Gold Spot ที่ 3,318.00 บาท ค่าเงินบาทที่ 33.47 บาท/ดอลลาร์
...หากเทียบจากจุดต่ำสุดของปี ราคา Gold Spot ที่ 2,624.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ขึ้นมาทดสอบ 3,496.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ราคาทองเพิ่มขึ้น 872 ดอลลาร์ หรือ 33.22%
ขณะที่ราคาทองแท่งในประเทศ ราคาต่ำสุดที่ 42,550 บาท และสูงสุดที่ 54,800 บาท เพิ่มขึ้น 12,250 ล้านบาท หรือ 28.78%
...สาเหตุที่ทำให้ราคาทองร่วงแรง หลังขึ้นทดสอบ 3,500 ดอลลาร์/ออนซ์ มาจาก
-สหรัฐส่งสัญญาณผ่อนคลายสงครามการค้า
-ทรัมป์ยันไม่มีแผนปลดประธานเฟด
-การขายทำกำไร หลังราคาทองคำพุ่งแรงกว่า 30% ตั้งแต่ต้นปี
-ตลาดหุ้นฟื้นและดอลลาร์กลับมาแข็งค่า คลายกังวลสงครามการค้า
-สัญญาณทางเทคนิคบ่งชี้ภาวะซื้อมากเกินไป ทำให้มีแรงขายระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม มุมมองของนักลงทุนสถาบันรายใหญ่อย่าง Goldman Sachs เผยแพร่บทวิเคราะห์ โดยประเมินแนวโน้มราคาทองอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” โดยคาดว่าปี 2568 ราคาทองคำมีโอกาสทะยานแตะ 3,700 ดอลลาร์/ดอลลาร์ อีกทั้งยังมองว่า 12 เดือนข้างหน้ามีโอกาสแตะ 4,500 ดอลลาร์ ขณะที่ JP Morgan ประเมินว่า ภายในไตรมาส 2/69 ราคาทองคำมีโอกาสทะยานแตะ 4,000 ดอลลาร์/ออนซ์
ขณะที่ “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” กรรมการผู้จัดการ บล.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ราคาทองคำจะกลับไป 3,700 ดอลลาร์ แตะ 60,000 บาท ภายในสิ้นปีนี้ โดย Goldman Sachs ทำการปรับเป้าหมายทองสิ้นปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 3,700 ดอลลาร์/ออนซ์ (จากเดิม 3,300 ดอลลาร์) พร้อมช่วงคาดการณ์ใหม่ที่ 3,650–3,950 ดอลลาร์/ออนซ์ มีเหตุผลดังนี้ ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางที่แข็งแกร่งกว่าคาด , กระแสเงินไหลเข้า ETF ทองคำที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่สูงขึ้น และธนาคารกลางยังซื้อต่อเนื่อง
โดย Gold Sachs ปรับเพิ่มสมมติฐานการซื้อทองของธนาคารกลางเป็น 80 ตัน/เดือน (จากเดิม 70 ตัน/เดือน) ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหลังปี 2565 ที่ 86 ตัน/เดือน แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนปี 2565 ที่ 17 ตัน/เดือน
ข้อมูลล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์พบการซื้อถึง 106 ตัน โดยจีนซื้อสูงสุดที่ 50 ตัน กระแสเงินเข้า ETF ทองคำพุ่งแรงในช่วงความกังวลเศรษฐกิจ
Goldman Sachs ประเมินโอกาสเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐฯ ภายใน 12 เดือนข้างหน้าที่ 45%กระแสเงินมักไหลเข้า ETF ทองคำ ณ ระดับดอกเบี้ยที่บ่งชี้ เศรษฐกิจกำลังถดถอย (Fed เริ่มปรับลดดอกเบี้ยในระยะ Mid Cycle) หากเกิดภาวะถดถอยจริง ราคาทองอาจขึ้นแตะ 3,880 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในสิ้นปี
โอกาสที่ทองจะกลับมาขึ้นอีกยังมีอีกมาก หากธนาคารกลางซื้อเฉลี่ย 100 ตัน/เดือน ทองอาจแตะ 3,810 ดอลลาร์ หากเกิดการเก็งกำไรสูงแบบช่วงโควิดหรือ Fed ผ่อยนคลายนโยบายการเงิน เงินอาจไหลเข้า ETF ระดับสูงรุนแรงมากยิ่งขึ้น ราคาทองอาจพุ่งถึง 4,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในสิ้นปี 2568 (แม้ความน่าจะเป็นต่ำมาก)
...เห็นราคาทองวิ่งขึ้น-ลง ราวกับรถไฟฟ้าเหาะ อาจเป็นช่วงจังหวะเวลาสำหรับนักลงทุนที่คิดจะสะสมการลงทุนทองในระยาว ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย