Talk of The Town

เทียบฟอร์ม 2 หุ้นเครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อ CBG เด่นกว่า OSP


28 เมษายน 2568

2 หุ้นเครื่องดื่มชูกำลัง ผลประกอบการไตรมาส 1/68 จะเป็นอย่างไร? เมื่อการแข่งขันเริ่มดุเดือดมากขึ้น ล่าสุดนักวิเคราะห์มองแนวโน้มกำไรไตรมาส 1/68 ของทั้ง OSP และ CBG ยังคงแข็งแกร่ง แต่จะน่าลงทุนหรือไม่ ทีมข่าวหาคำตอบมาให้แล้ว

เทียบฟอร์ม 2 หุ้นเครื่องดื่มชูกำลัง_S2T (เว็บ) .jpg

หากถอดมุมมองนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า คงมีมุมมองเชิงบวกต่อ CBG มากกว่า OSP เนื่องจาก CBG มีแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรในไตรมาส 2/68 ที่ชัดเจนขึ้น จากการกลับมาสต๊อกสินค้าในต่างประเทศ (โดยเฉพาะกัมพูชา) และการฟื้นตัวของตลาดภายในประเทศ 

ในขณะที่ OSP แม้จะรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/68 ที่แข็งแกร่งมาก หนุนความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่มองกลยุทธ์สินค้า SKU ราคา 10 บาทมีความเสี่ยงต่อการแย่งส่วนแบ่งตลาดกันเองกับสินค้าราคา 12 บาท

ทั้งนี้คาด OSP จะรายงานกำไรหลักไตรมาส 1/68 ที่ 947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 54% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าประมาณการก่อนหน้าที่ 820 ล้านบาท หนุนจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ 40% ซึ่งทำสถิติสูงสุด 

โดยกำไรที่มากขึ้นหนุนจากเมียนมา ที่รายได้เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยหลักมาจากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/67 และต้นทุนวัตถุดิบอย่างน้ำตาลและอลูมิเนียมที่ลดลง ช่วยหนุนมาร์จิ้น 

ด้านในประเทศ ส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มขึ้น 0.5% ณ สิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ 44.9% ในเดือน มี.ค. 2568 จากสินค้าราคา 12 บาทสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ในขณะที่สินค้า 10 บาทได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีกำไรพิเศษจากการปิดโรงงานขวดแก้วในเมียนมา ราว 200–300 ล้านบาท ส่งผลให้กาไรสุทธิรวมอาจแตะ 1.2 พันล้านบาท 

อย่างไรก็ดี มองว่าอัพไซด์ต่อแนวโน้มไตรมาส 2/68 มีจำกัด สัดส่วนยอดขายจากสินค้าราคา 10 บาทจะสูงขึ้น และรายได้ตามฤดูกาลในเมียนมาที่น่าจะลดลง กดดันมาร์จิ้นให้ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้คาดกำไรลดลงทั้งจากไตรมาสก่อน และ ช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่างบจะแข็งแกร่งในไตรมาส 1/68 หนุนความเชื่อมั่นในระยะสั้น ยังคงคำแนะนำ ถือ ราคาเป้าหมาย 16 บาท

ขณะที่คาด CBG จะรายงานกำไรหลักไตรมาส 1/68 ที่ 757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 3% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นไปตามที่คาด ยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศเติบโต 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารสต๊อกที่ดีร่วมกับคู่ค้า แม้ส่วนแบ่งตลาดจะลดลง 0.30% จากไตรมาส 4/67 เหลือ 25.3% ในไตรมาส 1/68 ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่คาดที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด 1% ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น 

รายได้จากการส่งออกคาดว่าจะลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 20% จากไตรมาสก่อน โดยหลักมาจากสต็อกสินค้าในกัมพูชาที่สูงตั้งแต่ไตรมาส 4/67 และอุปสรรคในการส่งออกไปเมียนมา ซึ่ง CBG ยังไม่มีโรงงานในเมียนมาเช่น OSP 

โดยคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลง 0.20% ทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน สะท้อนถึงยอดการส่งออกที่ชะลอตัวลง 

เมื่อมองไปข้างหน้า คาดกำไรไตรมาส 2/68 จะเติบโตทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน โดยหนุนจากการฟื้นตัวของส่วนแบ่งการตลาดและการเติมสต็อกสินค้าในกัมพูชา ยังคงคาแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 77 บาท

ดังนั้นแม้ OSP จะรายงานกำไรไตรมาส 1/68 ที่ดีกว่าคาด ซึ่งช่วยหนุนความเชื่อมั่นระยะสั้น แต่แนวโน้มไตรมาส 2/68 ขาดปัจจัยหนุนที่ชัดเจน โดยมาร์จิ้นอาจอ่อนตัวลงจากปัจจัยฤดูกาลในเมียนมา และสัดส่วนยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากสินค้า SKU ราคา 10 บาทที่มีมาร์จิ้นต่ำ โดยมองว่าการเปิดตัวสินค้าราคา 10 บาทของ OSP กำลัง “แย่งตลาด” จากสินค้าราคา 12 บาทของตนเอง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดจริงไม่เพิ่มขึ้น และกำไรลดลง

แต่ในทางตรงกันข้าม มองว่าปัจจัยลบด้านการส่งออกของ CBG ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 1/68 โดยกำไรมีแนวโน้มจะฟื้นตัวในไตรมาส 2/68 จากการเติมสต๊อกในกัมพูชาและการฟื้นตัวของส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 

ขณะที่ CBG ซื้อขายที่ PER ปี 2568 ราว 21 เท่า เทียบกับ OSP ที่ 16 เท่า ซึ่งมองว่าราคาพรีเมียมของ CBG สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากการเติบโตที่ชัดเจนกว่าความสามารถใน การรักษามาร์จิ้น และความยืดหยุ่น ในการดำเนินงาน จึงยังคงชอบ CBG มากที่สุดในกลุ่มฯ

เทียบฟอร์ม 2 หุ้นเครื่องดื่มชูกำลัง_S2T (เพจ) cop.jpg