จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : อสังหาฯปี66 ปีแห่งการฟื้นตัว แรงหนุนจาก “เศรษฐกิจ – ภาคท่องเที่ยว”


24 มกราคม 2566
2 ธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดีในปี 2566  ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง  จากการเปิดประเทศ และการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของ บมจ.พรีบิลท์ (PREB) ที่ส่งสัญญาณความแข็งแกร่งตั้งแต่ปลายปี 65  
รายงานพิเศษ อสังหาปี66.jpg
รายงาน DDproperty Thailand Property Market Outlook 2566 รวบรวมข้อมูลเชิงวิเคราะห์ในหลายแง่มุมจากข้อมูลบนเว็บไซต์ DDproperty.com เผยคาดการณ์ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัว หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณบวกต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 โดยมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ 

ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้คาดว่าจะมีจำนวนอุปทานใหม่ ๆ เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยเฉพาะสินค้าประเภทแนวราบ เพื่อตอบรับกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) และมีกำลังซื้อเพียงพอ

แต่ปี 2566 ยังถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ซื้อ เนื่องจากระดับราคาอสังหาฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐบางส่วนได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้จึงจำเป็นต้องมีความพร้อมทางการเงินและมีวินัยทางการเงิน

ส่วนธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์ว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวม 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2565-2567  มีแนวโน้มขยายตัว 4.5-6.5% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 
ซึ่งการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.0% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ซึ่งจะเริ่มทยอยดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ทั้งระบบรางและถนน อาทิ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเฟสแรกจะเริ่มในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และ (2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญอื่นๆ ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal 2) โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 

ส่วนการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวระดับต่ำในปี 2565 และทยอยปรับดีขึ้นในปี 2566 และ 2567 หนุนโดย (1) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม (2) การลงทุนใน EEC หนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ (3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย หนุนความต้องการซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผู้รับเหมารายใหญ่จะมีความได้เปรียบรายกลางและเล็ก เนื่องจากมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสูงกว่า และมีโอกาสได้งานประมูลมากกว่า ทั้งยังสามารถขยายการก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ด้านผู้รับเหมารายกลางและรายเล็กยังต้องพึ่งพาการรับเหมาช่วง (Sub contract) จากผู้รับเหมารายใหญ่  รายได้จึงไม่แน่นอน อีกทั้งมีโอกาสเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลนจาก COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัท พรีบิลท์ (PREB) ที่อยู่ในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง  โดย "วิโรจน์ เจริญตรา" กรรมการผู้จัดการ  มั่นใจผลประกอบการในปี 2565 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของโครงการงานรับเหมาก่อสร้างที่เริ่มกลับมาสู่สภาวะปกติ และในส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีการทยอยโอนอย่างต่อเนื่อง  และจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงปี 2566  ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง