Fund / Insurance

GCAP ผนึก AO FUND รุกธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร เดินหน้าจัดตั้งบล.-บลจ. เจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


03 เมษายน 2566
“บมจ.จี แคปปิตอล หรือ GCAP” ผนึกพลัง “Advance Opportunities Fund หรือ AO FUND” เดินหน้าจัดตั้งบริษัทย่อยรุกธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียว เน้นผนึกความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงด้านรายได้จากทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  นำไปสู่การเติบโตร่วมกันในอนาคตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำกลยุทธ์การสร้างรายได้จากธุรกิจ Non-Lending Business ให้ GCAP เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

GCAP ผนึก AO FUND รุกธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร.jpg

นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ ได้มีการกำหนดแผนธุรกิจร่วมกับ AO FUND สำหรับดำเนินธุรกิจร่วมกันในระยะยาว โดยผนึกความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย แตกไลน์ธุรกิจ จัดตั้งบริษัทย่อยประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร สร้างรายได้นอกเหนือจากธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ที่ GCAP ได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 18 ปี

ล่าสุดที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (PP) ให้กับ AO FUND เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครบวงจร โดยการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แบบ ก. ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจด้านการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล กิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การจัดการเงินร่วมลงทุน และการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แบบ ค. ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจด้านการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนฯ การค้าหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนฯ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนฯ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และการจัดการเงินร่วมลงทุน

ภายหลังการออกหุ้นเพิ่มทุน PP ในครั้งนี้ จะทำให้ AO FUND ถือหุ้น GCAP ในสัดส่วน 19.56%, นายศาวิณ เลาเศรษฐกุล ถือหุ้น GCAP ในสัดส่วน 0.95% และ Mr. Fong Pin Jan ถือหุ้น GCAP ในสัดส่วน 0.95% โดยเงินทุนที่ได้รับจากการเพิ่มทุน PP นั้น บริษัทฯ จะนำมาจัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท เพื่อดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดย GCAP จะถือหุ้นของบริษัทย่อยในสัดส่วน 100%  

“การเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพื่อดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์สร้างรายได้จากธุรกิจ Non-Lending Business ของบริษัทฯ โดยธุรกิจหลักทรัพย์ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ คณะกรรมการและผู้บริหารของ GCAP มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างยาวนานในการบริหารธุรกิจหลักทรัพย์ อาทิเช่น บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ จี เอฟ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ซี จี เอ็น จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ออมสิน จำกัด เมื่อได้ผนึกกำลังร่วมกับ AO FUND ซึ่งมีฐานลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน จะทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จและสร้างฐานรายได้ให้เติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น” นายอนุวัตร กล่าว

Mr. Tan Choon Wee ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้มีอำนาจ AO FUND  กล่าวว่า AO FUND เป็นธุรกิจกองทุนเปิด (Open-ended Fund) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ เป็นกองทุนที่สนับสนุนด้านเงินทุนแก่บริษัทมหาชนขนาดกลางและเล็กที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง และออสเตรเลีย  สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ AO FUND นั้น จะเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทต่างๆ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน การขยายกิจการ การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ AO FUND ยังเป็นกองทุนที่ได้มีการลงทุนในตราสารหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกและจำหน่ายโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
การร่วมลงทุนกับ GCAP ในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมลงทุนในระยะยาว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2566 ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ใบอนุญาตแบบ ก. และแบบ ค.)  ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในกลางปี 2567

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บล. และ บลจ. ที่จัดตั้งขึ้น จะเป็นการรุกธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี GCAP เป็นฐาน โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ตั้งขึ้น จะมุ่งเน้นกลยุทธ์การนำบริษัทที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการทำ Proprietary Trading ในขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะเน้นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน โดยให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงการลงทุนในตราสารหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกและจำหน่ายโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ