จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : LEO เปิดแผนปี66เน้น “Non Freight” โกลเบล็ก แนะ “เก็งกำไร”


05 เมษายน 2566
แนวทางการขยายธุรกิจของบมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO)  ปี 2566  เน้นธุรกิจใหม่ Non Freight  มาร์จิ้น แตะ 40-45% ดันรายได้โตยั่งยืน  ขณะที่โกลเบล็กเชื่อผลประกอบการทยอยฟื้นตัว แนะ “เก็งกำไร” 
         รายงานพิเศษ LEO เปิดแผนปี66 เน้น Non Freight.jpg
กลยุทธ์การทำธุรกิจของ บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) ปีนี้ยังคงยึดมั่นเดินตามแผนยุทธศาสตร์ "365 Degree Collaboration" โดยนายเกตติวิทย์  สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO  ระบุว่า ปี 66 บริษัทตั้งเป้าเป็นปีแห่งการก้าวสู่ความเป็นบริษัท Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน 

โดยวางเป้าการเติบโตของ Gross Profit Margin เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight และมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 40-45% เช่น Self Storage, Container Depot, Warehouse & Logistics Center และ Cold Chain Logistics ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ ใหม่ๆ  ซึ่งเมื่อรวมรายได้จากบริษัท JV ใหม่ที่เกิดขึ้นและการขยายงานของทางบริษัทฯ ทำให้รายได้ของธุรกิจ Non-Freight ของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า 
         
"บริษัทเชื่อมั่นว่าในปี 66 จะยังคงรักษาระดับการเติบโตของกำไรขั้นต้นและผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไร จากโครงการ JV และ M&A ใหม่ๆ ที่เป็นทั้งการให้บริการ Freight , Non Freight และ New Business ในหลายๆ โครงการ เช่น การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนโดยรถบรรทุกและรถไฟ, การให้บริการตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน , การให้บริการลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) แห่งที่ 2 ซึ่งได้เปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว , การพัฒนาธุรกิจ Cold Chain Logistics ที่ บมจ. สหไทย เทอร์มินัล (PORT) , การพัฒนาโครงการ Warehouse & Logistics  Center ร่วมกับ บริษัท เอชเค แอสเซท แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือ บมจ.เสนา ดีเวลอบเม้นท์ (SENA), การเปิดบริการ Self Storage แห่งที่ 3 และ 4 ,  การพัฒนาธุรกิจตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพื่อส่งให้ E-commerce Platform ของ China Post และ Tengjin ภายใต้ชื่อ บริษัท LEO Sourcing & Supply Chain ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆเข้ามาเป็นจำนวนมาก 
          
รวมถึง โครงการ JV กับ บริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด  ที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของทางการรถไฟจีนในการทำการตลาดการขนส่งทางรางไทย-จีนภายใต้ บริษัท LaneXang Express Company Limited และธุรกิจอื่นๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้นในปี 66 นี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รายได้ กำไรขั้นต้นและผลประกอบการของบริษัทฯเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง 
        
อีกทั้ง บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเรื่องการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ (M&A) กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา สิงคโปร์ และจีน คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/66 และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3-4/66 รวมถึงจะมีโครงการธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสามารถสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า อีก 1-2 โครงการ ซึ่งการ M&A หลายๆ โครงการนี้ จะสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก ระบุว่า  แนวโน้มผลประกอบการ ไตรมาสแรกคาดเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการเริ่มรับรู้รายได้จากการขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศจีน  ขณะที่ในปี 2566 บริษัทคาดว่าผลประกอบการยังเติบโตต่อเนื่อง จากโครงการJV และการ M&A โดยบริษัทได้มีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight  ซึ่งมี Margin สูง 40-45%  เช่นการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนโดยรถบรรทุกและรถไฟ  การให้บริการตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน (เปิดดำเนินการแล้ว)  การพัฒนาธุรกิจCold Chain Logistics ที่บมจ.สหไทยเ ทอร์มินอล  การพัฒนาโครงการ Warehouse& Logistics Center ร่วมกับบริษัทในเครือเสนา การเปิดบริการ  Self  Storage แห่งที่ 3 และ 4 การพัฒนาธุรกิจตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพื่อส่งให้อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มของไชน่าโพสต์และTengjin ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้แม้ราคาหุ้นปัจจุบันจะสูงกว่าราคาเป้าหมายของ Bloomberg Consensus แต่เราแนะนำ “เก็งกำไร” เนื่องจากมองว่า ผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาและทยอยฟื้นตัวดีขึ้นโดยได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อผลไม้กลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก
LEO