Smart Investment

GULF-GUNKUL เขมือบโซลาร์ฟาร์ม-วินด์ฟาร์ม 2,455 MW


07 เมษายน 2566
Mr.Data

สิ้นสุดการรอคอย! สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า หลังจากวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบกกพ.สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 

โดยมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจำนวน 175 โครงการ (จากผู้ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นรวม 386 โครงการ) ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ (จากกำหนดรับซื้อทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์)

แบ่งเป็น 1) พลังงานลมจำนวน 22 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,490.20 เมกะวัตต์ 2) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) จำนวน 24 โครงการปริมาณเสนอขาย 994.06 เมกะวัตต์ 3)พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 129 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 2,368 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ หลังจาก กกพ.ประกาศรายชื่อดังกล่าวแล้ว ทางการไฟฟ้าฯ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 หลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ต่อไป

โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ที่จะมีการ COD ไม่พร้อมกัน ดังนั้นโครงการที่จะต้อง COD ภายในปี 2567-2568 จะต้องลงนาม PPA ก่อน ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้

ผ่าขุมทรัพย์โรงไฟฟ้า copy.jpg

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ชนะประมูลมากสุด จำนวน 27 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,623.91 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานลม 9 โครงการ จำนวน 622 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 12 โครงการ จำนวน 700.2 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 6 โครงการ จำนวน 301.71 เมกะวัตต์

บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) ตามมาเป็นอันดับสอง ชนะประมูล 17 โครงการ รวม 832.60 เมกะวัตต์ แบ่งประเภทเชื้อเพลิงสำหรับพลังงานลม 2 โครงการ รวม 180 เมกะวัตต์ และประเภทเชื้อเพลิงสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งพื้นดิน 12 โครงการ รวม 569 เมกะวัตต์ และสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานจำนวน 3 โครงการ รวม 83.6 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ในส่วนของ GULF และ GUNKUL ผู้ชนะประมูลสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งและสอง หากนำมารวมกันแล้วพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในส่วนของโซลาร์ฟาร์ม วินด์ฟาร์ม และ โซลาร์ฟาร์ม+แบตฯ มีจำนวนกว่า 2,455 เมกะวัตต์ 

บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) ชนะประมูลรวม 170.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 154.5 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 16 เมกะวัตต์ 

ขณะที่บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ACE)  ชนะการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 18 โครงการ รวม 112.73 เมกะวัตต์

จับตา!  แรงเก็งกำไรหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่คว้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็น New S Curve ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า หลังขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้า ผลักดันผลการดำเนินงานโตก้าวกระโดดในอนาคต