จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “น้ำมันแพง” กระตุ้นยอดขายรถ EV หนุนรายได้ EA ปี 66 แตะ 4 หมื่นลบ.


10 เมษายน 2566
ปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถ EV เดือน ก.พ. ปี 65 โตถึง  5,061.16% เมื่อเทียบกับปี 64  หนุนเป้ารายได้ EA ปี 66 แตะ 40,000 ล้านบาท  

รายงานพิเศษ น้ำมันแพง กระตุ้นยอดขายรถ EV หน.jpg

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในการเป็นกลไกสำคัญ  นำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ  จากการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ตามมาตรการด้านการผลิต 30@30 เพื่อผลักดันไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) 

ซึ่งในปี 2566 มีการประมาณตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 1,950,000 คัน  แบ่งเป็น การผลิตเพื่อการส่งออก 1,050,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน และคาดการณ์ว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะมีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นที่ 2.4 ล้านคัน และมีตัวเลขการผลิตรถ ZEV จำนวน 725,000 คัน
          
นับตั้งแต่ปี 2566-2573 มีอัตราการผลิตรถยนต์เจริญเติบโตขึ้น 3.5% ต่อปี ทำให้ไทยมีบทบาทในการเป็นฐานการส่งออกเพิ่มมากขึ้น  
          
ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ  ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยได้มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
         
ซึ่งล่าสุด บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท
          
สำหรับโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากทั้งค่ายรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป ในจำนวนนี้เป็นการผลิตรถยนต์ BEV จำนวน 15 โครงการ จาก 14 บริษัท กำลังการผลิตรวม 270,000 คัน โดยขณะนี้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทออกสู่ตลาดแล้ว 11 บริษัท
          
2.การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็นการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,400 ล้านบาท การผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ จาก 8 บริษัท เงินลงทุน 9,300 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุน 5,120 ล้านบาท
          
3.กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามี 7 โครงการ จาก 7 บริษัท เงินลงทุน 4,200 ล้านบาท โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 11,300 หัวจ่าย ซึ่งเป็นแบบ Quick Charge กว่า 5,400 หัวจ่าย

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ เดือนก.พ. 66 รถยนต์นั่งไฟฟ้า (BEV) มีตัวเลขจดทะเบียนถึง 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากก.พ. ปี 65 ถึง 5,061.16% และมีสัดส่วนถึง 7.85% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง  ถ้ารวมรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กตามประเทศอื่นๆ จะมีสัดส่วน 9.67% ของยอดจดทะเบียนรวมทั้งหมด
         
เนื่องจากนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจและสามารถเลือกซื้อรุ่นรถตามความนิยมของตน

ขณะที่นายอมร  ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า Q1/66 (31 มี.ค.66)  บริษัทคาดว่าจะส่งมอบรถ Bus-EV ให้กับ BYD ประมาณ 500 คัน และคาดว่าทั้งปี 66 บริษัทจะส่งมอบรถBus-EV ให้กับ BYD ประมาณ 1,800-2,000 คัน  ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรถBus-EVถึง 300 คันต่อเดือน ส่งผลให้บริษัทบริษัทคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถBus-EV รวมได้ถึง 4,000 คัน
    
สำหรับเป้ารายได้ปี 66 บริษัทตั้งเป้าแตะระดับ 40,000 ล้านบาท  ซึ่งธุรกิจ EV จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 50% ที่เหลือจะเป็นสัดส่วนในธุรกิจแบตเตอรี่ และไบโอเจ็ท รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ
    
นอกจากนี้ ในปี 66 บริษัทวางงบลงทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ 6,000 ล้านบาท และเปลี่ยนแผงโซล่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทคาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10-12%  ส่วนงบลงทุนที่เหลือบริษัทจะลงทุนในโรงงานไบโอเจ็ท และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม
EA