จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : CWT รับมือปัญหาก๊าซเรือนกระจก วางมาตรการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์


20 เมษายน 2566
CWT หรือ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป พร้อมรับมือปัญหาก๊าซเรือนกระจก วางมาตรการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จนได้รับ Certificate ISO 14064-1:2018 ลดผลกระทบกีดกันการค้า  เดินหน้าธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามั่นใจปี66  รายได้โตไม่น้อยกว่า 10% 

รายงานพิเศษ CWT.jpg

ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตจะได้รับผลกระทบมากขึ้น  ทั้งจากการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น  ดังนั้นแนวทางการลดกระทบ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จึงมีความสำคัญมากขึ้น     

ซึ่ง บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป หรือ CWT  ได้มีแนวทางในการดูแลปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง  และล่าสุดได้รับCertificate ISO 14064-1:2018 มาตรฐานการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (ก๊าซเรือนกระจก) ในธุรกิจกลุ่มหนัง และโรงไฟฟ้า Green Power 2 จาก Bureau Veritas  

สะท้อนว่า  บริษัทได้เตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายก๊าซเรือนกระจกในอนาคตอย่างดี พร้อมกับสามารถจัดการความเสี่ยงด้านคาร์บอน และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ด้วยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) พร้อมร่วมมือกันลดมลพิษให้ได้มากที่สุด ถือได้ว่าเป็นเทรนด์ที่ดีสุดๆ ดีต่อบริษัท-ดีต่อโลก-ดีต่อใจ

ด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า บริษัทก็ยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง  โดย นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ CWT  ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา  บริษัท กรีนเพาเวอร์ 4 จำกัด (GP4)  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
          
ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกโครงการดังกล่าวได้ตรวจสอบเอกสารและพิจารณาคุณสมบัติของ GP4 ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านคุณสมบัติทั่วไป 2.ด้านคุณสมบัติการลงทุน 3.ข้อเสนอด้านเทคนิค และ 4.ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน ผลปรากฏว่า GP4 เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้อง ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเป็นที่เรียบร้อย  โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการด้านสัญญาคาดว่าจะสามารถลงนามแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/66 
          
ทั้งนี้โครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีระยะเวลาดำเนินการ 22 ปีนับจากวันที่ลงนามในสัญญา และเมื่อลงนามในสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทเตรียมยื่นเรื่องที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย โดยมีกำลังการผลิต 6.6 เมกะวัตต์ และปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ต่อไป
          
"บริษัทมีความพร้อมอย่างยิ่งสำหรับงานโครงการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมในทุกๆด้าน  นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือให้มากกว่า 50 MW ภายในปี 2566 ซึ่งหากรวมโครงการดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 32.1 เมกะวัตต์"
          
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 66 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจเบาะหนังบริษัทฯ มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง และมีแผนการส่งมอบงานอย่างชัดเจน ขณะที่มีรายได้จากธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนธุรกิจยานยนต์มีแผนการส่งมอบงานตามกำหนดเช่นกัน ทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า ผลงานปีนี้จะสามารถสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากปีก่อน 
          
โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ ในรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวล  ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว และมีโรงคัดแยกขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF 1 แห่ง กำลังการผลิต 400 ตัน/วัน อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 3/66   ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี   อีกทั้งมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีกหลายแห่ง
CWT