Wealth Sharing

สแตนชาร์ด หั่นเป้า GDP ไทย ปี 66 เหลือโต 4.3% จากเดิม 4.5%


20 เมษายน 2566
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)ลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 66 ลงเหลือเติบโต 4.3% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความสดใส และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ล่าช้า เพราะรอการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

สแตนชาร์ด หั่นเป้า GDP ไทย.jpg

นายทิม ลีฬหะพันธุ์  นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคาร ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 66 ลงเหลือเติบโต 4.3% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 4.5%  ซึ่งการปรับลดจีดีพี เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความสดใส และมีความผันผวน และปัจจัยในประเทศเรื่องความล่าช้าในการดำเนินโยบายทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากยังรอการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล และทำให้มองว่า GDP ไทยในครึ่งปีแรกจะเติบโตได้ที่ 2.9%

ส่วนในครึ่งปีหลัง เชื่อว่า บรรยากาศการเมืองและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย  โดยธนาคารได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 66 เพิ่มเป็น 25 ล้านคน จากเดิมที่ 15-20 ล้านคน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเติมในช่วงครึ่งปีหลังราว 5 ล้านคน และคาดว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/66 เป็นต้นไป

แต่ยังมีมุมมองที่เฝ้าระวังต่อดุลบัญชีการค้า  เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าที่ยังคงมีมูลค่าสูง โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลังและการนำเข้าของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น การส่งออกและนำเข้าที่สอดคล้องกันอาจช่วยลดการขาดดุลการค้า  

ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อยังเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สอดคล้องกับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่  1.2% ในไตรมาสที่ 3 และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6% ในไตรมาสที่ 4  และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว โดยคาดว่าเงินเฟ้อและการบริโภคจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐบาลใหม่ ในส่วนของปัจจัยด้านอุปทาน ราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งสนับสนุนมุมมองของเราที่มองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้น

ขณะที่ทิศทางอีตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. )คาดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% อยู่ที่ 2% ต่อปี ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. 66  แม้ว่าอาจจะมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่กระทบเศรษฐกิจโลก แต่ดัชนีเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมองเศรษฐกิจไทยในเชิงบวก และน่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบายการเงิน

ด้านการเมือง  ดร.ทิม มองว่า  ช่วงไตรมาส 2 น่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง  ซึ่งคาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และคาดว่ารัฐบาลใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐบาลน่าจะพร้อมทำงานอย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม