Wealth Sharing

EXIM BANK เปิดตัว “สินเชื่อ EXIM Green Start” เน้นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


25 เมษายน 2566
EXIM BANK เปิดตัวสินเชื่อรักษ์โลก วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 4% ต่อปี และระยะเวลากู้ 3 ปี กระตุ้นผู้ประกอบการไทย รวมทั้ง SMEs สร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับศักยภาพการแข่งขันและขับเคลื่อนส่งออกไทยอย่างยั่งยืน
EXIM BANK เปิดตัว“สินเชื่อ EXIM Green Start”.jpg
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า  จากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจนนำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อ EXIM Green Start” สำหรับธุรกิจที่ใส่ใจในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยวงเงินหมุนเวียนสูงสุด 200 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น Prime Rate -2.25% ต่อปี หรือประมาณ 4% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจทั่วไป และแถมฟรี! วงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) 1 เท่าของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ เพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ส่งออกไทย

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ปรับปรุงบริการ “สินเชื่อ EXIM Export Ready Credit” หรือสินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก โดยเพิ่มวงเงินสูงสุดจาก 5 ล้านบาทต่อราย เป็น 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น Prime Rate -2.00% ต่อปี หรือประมาณ 4.25% ต่อปี และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีในปีแรก โดย EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่เริ่มนำวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) มาปรับใช้ในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศที่กำลังจะประกาศออกมาในปีนี้

ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกสามารถยื่นขอสินเชื่อ EXIM Green Start และสินเชื่อ EXIM Export Ready Credit ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 เมษายน 2567 สอบถาม EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999

ดร.รักษ์ กล่าวว่า สินเชื่อทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจไทย รวมถึง SMEs ให้มีความพร้อมที่จะพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและการบริการที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ตามนโยบายรัฐบาล และการดำเนินงานธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดเรื่องการปฏิบัติตามเกณฑ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น สหภาพยุโรปมีกำหนดเริ่มทดลองใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ในปี 2566 เป็นต้น