กระดานข่าว

STGT ผนึกกำลัง CPAC Green Solution ร่วมลงนาม MOU ต่อยอดความร่วมมือ ส่งเสริมความสำเร็จด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน


12 พฤษภาคม 2566
ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (“STGT”) ร่วมกับ Green Circular by CPAC Green Solution ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่อง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เพื่อต่อยอดและส่งเสริมความสำเร็จทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการเพิ่มมูลค่าวัสดุหรือของเสียที่ไม่ใช้แล้วให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อสังคมส่วนรวมและภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน
STGT Press Release - STGT ผนึกกำลัง CPAC Green Solution ร่วมลงนาม MOU (1).jpg
 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่อง การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy กับ Green Circular by CPAC Green Solution นำโดยนายวิทย์นาถ สินเจริญกุล กรรมการและประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จากบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นางสาวอุมาพร เจริญศักดิ์  Waste Circularity Business Director บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด เพื่อร่วมต่อยอด พัฒนา และขยายผลการดำเนินงานจากความร่วมมือในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาระหว่าง STGT และ SRIC พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนทักษะองค์ความรู้ในเรื่องการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ รวมถึงวัสดุพลอยได้อื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมและลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ (MOU) นอกจากวัตถุประสงค์ในการร่วมมือเพื่อขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และสานต่อความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมาระหว่าง STGT และ บริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด SRIC แล้วนั้น ยังได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้และกากอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งนำไปศึกษาและต่อยอดพัฒนาสู่การนำวัสดุพลอยได้อื่นๆมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตซีเมนต์ (Waste to energy) และการนำโมลด์หรือแม่พิมพ์ซึ่งใช้ในการผลิตถุงมือยางคุณภาพสูงจากศรีตรังโกลฟส์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำกลับมาเป็นวัตถุดิบหมุนเวียนเพื่อใช้ผลิตเป็นวัสดุทนไฟ ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเกิดจำนวนวัสดุเหลือใช้ได้เป็นอย่างดี (Waste to Raw Materials)

 คุณวิทย์นาถ สินเจริญกุล กรรมการและประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน แห่ง STGT กล่าวว่า “ผลจากความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง STGT และ SRIC ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงมีผลการดำเนินงานไปในทิศทางที่น่าพอใจ โดยตั้งแต่ในเดือนสิงหาคมปี 2565 บริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯได้มีการส่งมอบโมลด์หรือแม่พิมพ์ที่ผ่านการใช้งานให้ทาง SRIC ไปแล้วอยู่ที่ประมาณ 557 ตัน และในปีนี้ทางบริษัทฯ มีการตั้งเป้าส่งมอบอยู่ที่ 1,600 ตัน ซึ่งความร่วมมือนี้เปรียบเสมือนการเข้ามาเติมเต็มทางด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้และสร้างความยั่งยืนให้กับวงการอุตสาหกรรมสีเขียวให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง”

เนื่องจากบริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯ มีความตระหนักและใส่ใจอย่างยิ่งในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงได้นำวิธีผลิตถุงมือยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด 100% มาใช้ในกระบวนการภายใต้แนวคิด Clean World Clean Gloves หรือถุงมือสะอาด โลกสะอาดเพื่อเป็นส่วนช่วยสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบหลักให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งเรายังมีวิธีจัดการวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำโมลด์หรือแม่พิมพ์ถุงมือยางที่ผ่านการใช้งานแล้ว ไปผลิตเป็นอิฐปูทางเดิน ตลอดจนวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น กากตะกอนและขี้เถ้า เราก็มีการนำไปผลิตเป็นดินรักษ์โลกสำหรับแจกจ่ายให้แก่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เพื่อขานรับกับหลักปฏิบัติด้าน ESG หรือแนวทางการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล สู่สังคมและชุมชนที่ยั่งยืน

ดังนั้นการร่วมมือเพื่อขยายผลทางด้าน Waste to Raw Materials รวมถึงการนำเถ้าลอย ตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย มาศึกษาวิจัยต่อในเรื่อง Waste to Energy ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการช่วยผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและตอบโจทย์แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของบริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ได้อย่างดีเยี่ยม

ทั้งนี้ บริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯ และ CPAC Green Solution มีความมุ่งหวังและเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างคุณค่าให้แก่ทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้ มีรากฐานทางสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงและยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในระดับที่ทัดเทียมและแข่งขันได้บนเวทีโลก