Wealth Sharing

ACE เดินหน้าเซ็น PPA 2 โรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18.9 MW


15 พฤษภาคม 2566
ACE ประกาศข่าวดี ย้ำภาพผู้นำโรงไฟฟ้าขยะชุมชนต้นแบบ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 2 โครงการในพื้นที่ อบต.เชียงหวาง จ.อุดรธานี กำลังการผลิตติดตั้ง 9.0 เมกะวัตต์ และ อบต.โชคชัย จ.นครราชสีมา กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ พร้อมเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ ด้านพลังงานสะอาดทุกประเภทต่อยอดเติบโต
ACE เดินหน้าเซ็น PPA 2.jpg
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทย่อยของ ACE ได้แก่ 1.บริษัท เนชั่นแนล คลีน เอ็นเนอร์จี้  จำกัด (“NCE”) บริษัทย่อยโดยอ้อมที่ ACE ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 90 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดขององค์การบริหารส่วนตำบลเชียงหวาง จ.อุดรธานี (“โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเชียงหวาง”) และ 2. บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด (“ABP”) บริษัทย่อยโดยอ้อมที่ ACE ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 90 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดของขององค์การบริหารส่วนตำบลโชคชัย จ.นครราชสีมา (“โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโชคชัย”) ซึ่งบริษัทฯ ได้เคยแจ้งให้ทราบแล้วนั้น

ล่าสุดบริษัทย่อยทั้ง 2 บริษัทได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (“กฟภ.”) ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของทั้ง 2 โครงการได้รับการลงนามโดย กฟภ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยวันที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของทั้ง 2 โครงการ คือ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 โดยโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเชียงหวางมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.0 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 7.75 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโชคชัยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 8.0 เมกะวัตต์

“การลงนาม PPA โรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน 2 แห่งล่าสุดนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ช่วยย้ำศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำพลังงานสะอาดทุกประเภทของ ACE และช่วยเพิ่มพอร์ตในกลุ่มโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเป็น 4 แห่ง เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นโมเดลต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” นายธนะชัย กล่าว

ปัจจุบัน ACE อยู่ระหว่างการเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งโครงการที่เป็นการลงทุนตามแผนงาน รวมถึงโครงการส่วนที่ได้มาจากการประมูลงานภาครัฐ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)  ประเภทโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จำนวน 18 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 50.00 เมกะวัตต์ที่ได้ลงนาม PPA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จํานวน 18 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 112.73 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อสามารถ COD ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด 

นอกจากนี้ ACE ยังสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มในเดือนมิถุนายนนี้อีกด้วย และยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการพลังงานสะอาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งประเภทชีวมวล ชีวภาพ ขยะชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งหากมีการเปิดประมูลในอนาคตก็พร้อมจะเข้าร่วม ขณะที่ โซลาร์รูฟท็อป ก็จะเป็นอีกตลาดที่ ACE ให้ความสนใจและจะรุกเข้าไปมากขึ้นในปีนี้ ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ ACE ยังคงมีการพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ที่มีเข้ามาโดยตลอด ซึ่งอยู่ระหว่างรอโอกาสและเวลาที่เหมาะสม เพราะทุกการลงทุนของ ACE ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าเป็นสำคัญ 

ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ของ ACE สามารถทำรายได้จากการขายและบริการรวม 1,740.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% จากงวดเดียวกันปี 2565 ซึ่งทำได้ 1,621.0 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 275.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ทำได้ 322.7 ล้านบาท
ACE