Wealth Sharing

KTB จับมือ S ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง “ดอกเบี้ยเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต” ครั้งแรกในไทย


26 พฤษภาคม 2566
“กรุงไทย” และ “กลุ่ม สิงห์ เอสเตท” ร่วมก้าวสู่ Net Zero ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย เชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต ครั้งแรกในไทย  ตอกย้ำผู้นำบริการทางการเงินที่ยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมาย Net Zero ของประเทศ

KTB จับมือ S ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง.jpg

นายรวินทร์  บุญญานุสาสน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า  ธนาคารร่วมกับบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนเครดิต  (Carbon Credit Linked Interest Rate Derivatives)  เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดทุนไทย ที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนการจัดหาคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพให้กับ สิงห์ เอสเตท เพื่อการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมการปล่อยคาร์บอนของบริษัท (Carbon Offset) หากบริษัทสามารถดำเนินงานตามเป้าหมาย ESG สำเร็จ 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดด้านบริการทางการเงินที่ยั่งยืน (ESG Financial Solution) ที่ออกแบบและพัฒนาบริการตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าอย่างตรงจุด สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และแนวโน้มการทำธุรกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ในข้อ 13  เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารได้นำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ในการบริหารจัดการอย่างครบวงจร เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากสิงห์ เอทเตท สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานได้ตามเป้าหมายด้าน ESG ธนาคารจะสนับสนุนการจัดหาคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” 

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) (S)  เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการด้านการต่อต้านภาวะโลกรวน หรือ climate change โดยบริษัทตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วยการสร้างความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมทางธุรกิจตลอดซัพพลายเชน (supply chain) เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในทุกหน่วยธุรกิจ    เพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอนด้วยการปลูกป่าในเขตรอยต่ออุทยานเพื่อสร้างแนวป้องกันไฟป่า โดยตั้งเป้าสร้างพื้นที่อนุรักษ์  1 ล้านตารางเมตร ภายในปี ค.ศ. 2030

“นอกจากนี้ยังขยายฐานสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานคาร์บอนต่ำ สร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่จังหวัดอ่างทอง รวมทั้งพัฒนาโครงการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานสะอาด ให้แก่บริษัทในเครือ อาทิเช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1.3 เมกะวัตต์ ในโครงการโรงแรมของกลุ่มในประเทศไทยและมัลดีฟส์ ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต สร้างรายได้ที่ยั่งยืนพร้อมสร้างสังคมที่มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกที่ๆ มีธุรกิจของบริษัทดำเนินอยู่” นางฐิติมา กล่าว
KTB