EPG ปีบัญชี 65/66 ยอดขาย 12,084 ล้านบาท เติบโต 3% มีกำไรสุทธิที่ 1,082 ล้านบาท เตรียมจ่ายเงินปันผล 14 สตางค์ต่อหุ้น เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น 20 ก.ค. นี้
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าในปีบัญชี 65/66 (1 เม.ย.65 - 31 มี.ค.66) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 12,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 11,740 ล้านบาท จำนวน 344 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 33% และมีกำไรสุทธิ 1,082 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท จำนวน 520 ล้านบาท หรือ ปรับตัวลดลง 32.5% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขาย 3,563 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน มาจากยอดขายในสหรัฐอเมริกายังคงเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าฉนวนยางที่มีคุณภาพสูง อีกทั้ง บริษัทสามารถปรับขึ้นราคาตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการขยายตลาดไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรม Ultra Low Temperature Insulation และ ระบบ Air Ducting system ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี ส่วนยอดขายในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีบัญชีหลัง
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และ TJM มีรายได้จากการขาย 5,936 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน ด้วยสถานการณ์ชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortage) ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง Aeroklas มุ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงาน ประกอบกับยานยนต์รุ่นใหม่ได้ทยอยออกสู่ตลาด ส่งผลให้ Aeroklas ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีบัญชีหลัง และสภาวะเศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลง
สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียยอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้จากการซื้อกิจการ 4 Way Suspension Products Pty. Ltd ออสเตรเลีย ทั้งนี้ ธุรกิจในออสเตรเลียต้องเผชิญกับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักในออสเตรเลีย ภาวะเงินเฟ้อ และความล่าช้าในการส่งมอบยานยนต์เข้าสู่ตลาดในออสเตรเลีย
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขาย 2,585 ล้านบาท หรือ ลดลง 7% จากปีก่อน เนื่องจากยอดสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารชะลอตัวลง แต่บรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วยน้ำดื่มเริ่มปรับตัวดีขึ้น บริษัทยังเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายโดยเฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วยน้ำดื่ม บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการปรับกลยุทธ์และกระบวนการผลิต พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นในอนาคต
บริษัทมีต้นทุนขายสินค้า เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขาย บริษัทได้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในหลายประเทศเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยจากราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากค่าขนส่งและค่าเช่าคลังสินค้าของธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น การปรับอัตราการจ้างพนักงานตามตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย การจ้างพนักงานเพิ่มเติมเพื่อขยายร้านค้าสาขา TJM ออสเตรเลีย และ ค่าโฆษณาสินค้า กิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ และ ค่าพัฒนาระบบ IT ของออสเตรเลีย รวมทั้ง รับรู้ค่าใช้จ่ายของ 4 Way Suspension Products Pty. Ltd ออสเตรเลีย เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 243 ล้านบาท จากการ ปรับตัวดีขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 66 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท (สิบสี่สตางค์) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 392 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2566 ในวันที่ 20 ก.ค. 66 และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 ส.ค. 66 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 18 ส.ค. 66
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.65 บริษัท ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.11 บาท (สิบเอ็ดสตางค์) หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.14 บาทต่อหุ้น (สิบสี่สตางค์) จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.25 บาทต่อหุ้น (ยี่สิบห้าสตางค์) คิดเป็นร้อยละ 61 ของผลกำไรสุทธิ (Payout ratio)