การขนส่งสินค้าทางถนนและการท่องเที่ยวที่กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด กระตุ้นธุรกิจ บมจ. ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) ผู้นำในการให้บริการระบบ GPS Tracking อันดับ 1 ในประเทศไทย ปีนี้เติบโต 10-15%
วิจัยกรุงศรี คาดปริมาณขนส่งสินค้าทางถนนจะขยายตัว 2-3% ในปี 2565 และเฉลี่ย 4-5% ต่อปีในปี 2566-2567 โดยปี 2565 ธุรกิจเติบโตต่ำ แรงกดดันจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ผลักดันราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง ทำให้ต้นทุนขนส่งด้านเชื้อเพลิง (สัดส่วนเกือบ 50% ของต้นทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2565 จะเฉลี่ยที่ 98 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (+42.0% จากปี 2564) ขณะที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจึงทยอยปรับสูงขึ้น (ล่าสุด เดือนกรกฏาคม เพิ่มขึ้น 20.4% จากสิ้นปี 2564) ท่ามกลางกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอลงจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าวิกฤตยูเครนจะผ่อนคลายลงในปี 2566 และ 2567 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดมาอยู่ที่ 82 และ 76 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ หนุนกิจกรรมการขนส่งปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565
ส่วนด้านการท่องเที่ยว SCB EIC ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบินฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 67 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวม มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67 จากความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเร่งตัวขึ้น
ภาคการขนส่งและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การใช้รถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าและการใช้รถบัสรองรับนักท่องเที่ยวมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก ในด้านความปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว จะต้องติดตั้งเครื่องคิดตามการเดินทางหรือ จีพีเอสกับพาหนะที่ใช้งาน และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ บมจ. ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) ผู้นำในการให้บริการระบบ GPS Tracking อันดับ 1 ในประเทศไทย (อ้างอิงจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกในเดือนมกราคม 2565)
ซึ่งผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 บริษัทมีรายได้รวม 165.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 16.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.95%
โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ DTCENT “ทศพล คุณะเพิ่มศิริ” ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโตต่อเนื่อง เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว ภายหลังที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถควบคุมได้ดี การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก มีการขนส่งและเดินทางมากขึ้น ลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทฯ เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ รวมทั้ง ราคาการให้บริการของ GPS Tracking กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้และกำไรของ DTCENT เติบโตตามไปด้วย
และมั่นใจว่า ผลงานในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 10-15% จากความต้องการใช้ระบบGPS Trackingที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ หากมีความชัดเจนของกรมขนส่งทางบกที่จะมีการออกกฎหมายบังคับใช้GPSกับรถอีกหลายประเภท เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะส่งผลให้ DTCENT มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทฯ เดินหน้าในการเปิดศูนย์บริการและขายสินค้า GPS Tracking โดยตั้งเป้าหมาย 7 แห่งภายในปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าใช้บริการให้กับลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อสนับสนุนการใช้งานในธุรกิจ GPS และ การพัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้า
และยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ IoT Solution รองรับการขยายโครงการของภาครัฐ เช่น งานโครงการด้านเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ตามเทศบาลต่างๆ และ ระบบ AIอย่าง BAMS (Business Activity Management System) ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้ระบบ รวมทั้ง ระบบบริหารจัดการน้ำ และระบบ BIM (Building Information Modeling), EV Platform, Logistics Demand-Supply Matching Platform ซึ่งคาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้
ส่วนการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เป็นการนำโมเดล ระบบ GPS Tracking และ IoT Solution ร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา เจรจาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ คาดว่า จะเห็นความชัดเจน 1-2 แห่งภายในปี 2566
ในส่วนของความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ประกอบด้วย บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES)วางแผนที่จะพัฒนาให้บริษัทฯ เป็นTier1SupplierในงานOEMสำหรับอุปกรณ์GPS TrackingและTelematicsให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้เพิ่มขึ้น ส่วนบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด (BRS) ขณะนี้ ร่วมวางแผนงานการดำเนินธุรกิจ ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)และพัฒนาผลิตภัณฑ์Supply Chain Solutionsใหม่ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับบริษัทฯ
สำหรับความคืบหน้าการเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง กับธุรกิจหลัก ในรูปแบบการทำM&Aขณะนี้ อยู่ระหว่างการร่วมพิจารณากับบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชนฯ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้